ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เดินหน้าแผน IPO เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุด ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งไฟลิ่ง ยื่น IPO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระจายหุ้นขายประชาชนกว่า 347 ล้านหุ้น ปักธงเป็นธนาคารมีคุณภาพ และเติบโตในกลุ่มธุรกิจด้านการเงิน สนับสนุนสินเชื่อเพื่อคนไทย โดยมีธ. ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด(มหาชน) (“ธนาคารฯ”) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่ง เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจำนวนหุ้นที่คาดว่าจะเสนอขายทั้งหมด (รวมหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคารฯ และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม) ไม่เกิน 347,029,122 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.2 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคารฯ ภายหลังการทำ IPO ซึ่งนับเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เสนอขายหุ้น IPO ในรอบ 10 ปี โดยมีธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ธนาคารฯ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นให้บริการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี(Micro SME) แก่กลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เท่าที่ควร ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ รวมทั้ง นำไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล(Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure) ด้วยเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าบุคคล รวมไปถึงความมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ และสอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินธุรกิจของธนาคาร “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ”
นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด(มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า หลังจาก ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งไฟลิ่งธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าธนาคารฯ จะเสนอขายและเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในหมวดกลุ่มธุรกิจการเงิน / ธนาคาร ตามแผน IPO
สำหรับ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำเพื่อลูกค้ารายย่อย ด้วยประสบการณ์การให้บริการสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่หลากหลายมากว่า 10 ปี ทำให้ธนาคารฯ มีความเข้าใจในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างลึกซึ้งประกอบกับการมีผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าหลากหลายขนาดและประเภทธุรกิจ รวมถึงการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและการบริหารจัดการความเสี่ยงที่รัดกุม ทำให้เชื่อว่าธนาคารฯ อยู่ในจุดที่สามารถขยายพอร์ตสินเชื่อในการสนับสนุนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นได้จากการเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งของเงินให้สินเชื่อของธนาคารฯ ในระหว่างปี2563 ถึงปี 2565 ที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมร้อยละ 33.0 ต่อปี และยังมีศักยภาพในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสู่ตลาดที่มีขนาดใหญ่แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินนี้ ด้วยรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์
นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังมีโครงสร้างต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จากเครือข่ายสาขาที่มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำ ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ธนาคารฯมีสาขาทั้งสิ้น 527 แห่งทั่วประเทศไทย ประกอบไปด้วยสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อยสำนักงานนาโนเครดิต และสาขาที่ให้บริการเงินฝาก ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ในพื้นที่หรือใกล้เคียงกับกลุ่มลูกค้า รวมทั้งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล โดยบริษัทไทยไมโคร ดิจิทัล โซลูชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารฯ ได้นำแพลตฟอร์มด้านเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ของลูกค้าผ่านแอปพลิเคชัน “ไมโครเพย์” ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานที่ผ่านกระบวนการ KYC ถึง 384,460 ราย เป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารฯ สามารถรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวม (Cost-to-Income Ratio) ไว้ได้ในระดับต่ำ หรือเท่ากับร้อยละ 36.0 ในงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานงวด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 – 2565) และ ณ งวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ มีจำนวนเท่ากับ68,562.4 ล้านบาท 97,728.7 ล้านบาท 121,298.0 ล้านบาท และ 132,758.1 ล้านบาทตามลำดับ โดยมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมต่อปีระหว่าง 2563-2565(Compound Annual Growth Rate: CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 33.0 ต่อปี
เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ประกอบด้วย (1) สินเชื่อสำหรับสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (2) สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (3) สินเชื่อบ้าน (4) สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล (5) สินเชื่อรายย่อยอื่นๆ
นอกจากนี้ สำหรับงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ธนาคารฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,830.7 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมในระหว่างปี 2563 ถึงปี2565 ร้อยละ 30.9 ต่อปี