SCGP คาดไตรมาส 4 ยอดขายฟื้นตัว โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คาดรายได้จากการขายรวมทั้งปีไม่ถึงเป้า 1.6 แสนล้านบาท หลัง 9 เดือน ทำได้9.7 หมื่นลบ. โดยไตรมาส 3 ปรับตัวลดลงทั้งช่วงเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าเหตุแข่งขันตัดราคาฉุดกำไรอ่อนตัว ส่วนงบลงทุนปีนี้ ใช้เงินเพียง 8-9 พันลบ. จ่อดีลควบรวมกิจการอีก 2 ดีลโค้งท้ายปีนี้
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP และนายดนัยเดช เกตุสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน SCGP ร่วมกันแถลงผลดำเนินงาน 9 เดือนแรกปีนี้ และแนวโน้มไตรมาส 4/2566 ว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่ความต้องการใช้กระดาษบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคจะทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของภาคการผลิตและการปรับขึ้นราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ เป็นปัจจัยบวกให้กับการส่งออกของอาเซียน ส่วนธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะได้รับปัจจัยบวกจากการ เตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งจะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและดีมานด์บรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
โดยคาดว่าไตรมาส 4 ปีนี้ จะเห็นรายได้ใกล้เคียงกับทิศทางของ 3 ไตรมาสแรก โดย9 เดือนแรก รายได้จากการขาย 97,517 ล้านบาท ( เฉลี่ยไตรมาสละ 33,000 กว่าล้านบาท) หากรวมทั้ง 4 ไตรมาส คาดว่าอาจจะมีรายได้รวม 1.3 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.6 แสนล้านบาท
"ปีนี้เป็นปีแรกที่เราไม่ได้มีการรีวิวเป้าหมายทั้งปี จากที่เดิมจะทำรีวิวในช่วงกลางปีอย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานช่วงปีนี้เรายังรักษามาร์จิ้นไว้ได้ 14% แต่มีผลกระทบจากการแข่งขันตัดราคา กระทบต่อผลการดำเนินงาน" นายวิชาญ กล่าว
ทั้งนี้ ผลดำเนินงานของ SCGP ในไตรมาสที่ 3 และช่วง 9 เดือนแรก ปีนี้ รายได้จากการขาย EBITDA และกำไร มีการปรับตัวลดลงทั้งการเปรียบเทียบกับข่วงเดียวกันปีก่อน(YoY) และ เปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า (QoQ)
ส่วนของแผนการลงทุนปีนี้ ได้ตั้งงบลงทุนไว้ 2 หมื่นล้านบาท บริษัทได้ปรับลดแผนการลงทุนเหลือ 8-9 พันล้านบาท เนื่องจากชะลอการลงทุนในโครงการกระดาษบรรจุภัณฑ์ในเวียดนามตอนเหนือ ซึ่งปีนี้งบส่วนใหญ่จะใช้ปรับปรุงการผลิตและขยายกำลังการผลิตและการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพสูงเพื่อรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
โดยความคืบหน้าโครงการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว(Flexible Packaging) ในประเทศไทย ได้เริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา และโครงการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 สำหรับธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์Peute (เพอเธ่) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เตรียมเปิดโรงงานแห่งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งจะทำให้มีความสามารถจัดหากระดาษและพลาสติกรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
สำหรับความคืบหน้าการลงทุนใน Starprint Vietnam JSC (SPV) ประเทศเวียดนามคาดว่าดีลจะเสร็จสิ้นในไตรมาสที่ 4 นี้ นอกจากนี้ยังเตรียมลงทุนในบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้าและรองรับการขยายธุรกิจไปยังตลาดระดับโลก และการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตจากการขยายฐานลูกค้าและต่อยอด Value Chain ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้
"ช่วงที่เหลือปีนี้ เรายังคงเดินหน้าดำเนินการแผน M&P (ควบรวมกิจการ) เตรียมสรุปเพิ่มอีก 2 ดีล ในช่วงอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ มูลค่าราว 1 พันล้านบาท"นายวิชาญกล่าว
สำหรับทิศทางผลประกอบการในปี 67 บริษัทคาดว่า แนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ได้ โดยมีปัจจัยในต่างประเทศที่มีแนวโน้มการบริโภคที่ฟื้นตัวดีขึ้นรวมถึงสถานการณ์ในประเทศด้วย
สำหรับรายละเอียดผลดำเนินงานไตรมาส 3 และช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ ดังนี้
ผลดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 SCGP มีรายได้จากการขาย 31,572 ล้านบาทลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มี EBITDA อยู่ที่ 4,229 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และกำไรสำหรับงวด 1,325 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งลดลงมาจากราคาขายกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซีย ปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีนที่ลดลง และปริมาณขายและราคาขายเยื่อกระดาษที่ลดลง
ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 97,517 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน EBITDA 13,381 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสำหรับงวด 4,030 ล้านบาท ลดลงร้อยละ25 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาและปริมาณขายสินค้ากระดาษบรรจุภัณฑ์และเยื่อกระดาษที่ปรับลดลง
SCGP ได้ดำเนินตามกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะตลาด โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มยอดขายบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังเติบโตได้ดีในอาเซียนจากการบริโภคภายในประเทศ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป ผลไม้ และบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค จากความต้องการใช้ในประเทศไทยและเวียดนามที่เพิ่มขึ้น การส่งออกในสินค้ากลุ่มนี้ที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงส่งเสริมพนักงานให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบการทำงานและนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ โดยโรงงานในไทยสามารถประหยัดต้นทุนด้านพลังงานได้ถึงปีละ 130 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 30,000 ตันคาร์บอนต่อปี ในปี 2566
ขณะเดียวกัน SCGP มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก คาดว่าภายในสิ้นปี 2566 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ15 ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ตาม Science Based Target Initiative : SBTi ที่ร้อยละ 7.5 จากปีฐาน 2563 พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) วงเงิน 3,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ SCGP บรรลุผลตามเป้าหมายหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593