ก.ล.ต. คลอดร่าง หลักเกณฑ์จัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือกอง Thai ESG แล้ว พร้อมไฟเขียวให้ บลจ. ยื่นขอเสนอขายกอง 'Thai ESG' ได้ คาดทะยอยอนุมัติภายในต้นธันวาคม 2566
ตามที่คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งได้แก่ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) เพื่อสนับสนุนการลงทุนในกิจการในประเทศที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยใช้กองทุนรวมในตลาดทุนเป็นกลไกที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติด้านความยั่งยืน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการออมระยะยาวผ่านการลงทุนในตลาดทุน โดยให้ ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์รองรับกองทุนรวมดังกล่าวต่อไป
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า “คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ในการประชุมครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: Thai ESG) ที่สอดรับกับแนวนโยบายของภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ ก.ล.ต. ได้ยกร่างประกาศแล้วเสร็จและคาดว่าจะนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณต้นเดือนธันวาคม2566 โดยในระหว่างนี้ ก.ล.ต. เปิดให้ บลจ. สามารถส่งร่างเอกสารจัดตั้ง Thai ESG ให้ ก.ล.ต. พิจารณาได้ล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ บลจ. และเตรียมพร้อมที่จะเสนอขายกองทุนรวมดังกล่าวให้ผู้ลงทุนได้โดยเร็ว และภายหลังประกาศมีผลบังคับใช้ก.ล.ต. จะสามารถอนุมัติจัดตั้ง Thai ESG ได้ภายในต้นเดือนธันวาคม 2566 เช่นกันเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวในปีภาษี 2566 ได้”
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับแนวนโยบายของภาครัฐ คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีมติเห็นชอบหลักการให้ Thai ESG ลงทุนในทรัพย์สินที่ผู้ออกเป็นภาครัฐไทยหรือกิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังนี้
(1) หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ที่ได้รับการคัดเลือกจาก SET ว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม(environment) หรือด้านความยั่งยืน (ESG) และหรือ
(2) หุ้นที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET และ mai ที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แผนการจัดการ และการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ที่ผ่านการทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยผู้ทวนสอบ และหรือ
(3) ตราสารหนี้ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน* และโทเคนดิจิทัลเพื่อการระดมทุนที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืนที่มีมาตรฐานในทำนองเดียวกันกับตราสารหนี้ดังกล่าว
ทั้งนี้ Thai ESG ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) เพื่อที่ผู้ลงทุนจะได้รับข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน โดย Thai ESG จะได้รับสิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอจัดตั้งและแก้ไขโครงการจาก ก.ล.ต. เช่นเดียวกับ SRI Fund ด้วย**
อนึ่ง ภาครัฐเห็นความสำคัญที่ประชาชนจำเป็นต้องมีการออมการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว จึงได้สนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ลงทุนในThai ESG โดยผู้ลงทุนสามารถนำเงินลงทุน มาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกินร้อยละ30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีที่มีการลงทุน รวมทั้งเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ถ้าการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนใน Thai ESG ไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน
หมายเหตุ :
* ตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืน ประกอบด้วย Green bond Sustainability bond และ Sustainability-linked bond
** หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) กำหนดให้ บลจ. ที่บริหารจัดการ SRI Fund ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนภายใต้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง SRI Fund ได้อย่างสะดวก และมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงด้านการฟอกเขียว (greenwashing) โดย ก.ล.ต. ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบด้วยค่าธรรมเนียมคำขออนุมัติจัดตั้ง 100,000 บาท ต่อกองทุนรวมและค่าธรรมเนียมคำขอแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อกองทุนรวม