บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ เร่งเดินหน้าสยายปีก แผนต่อยอดการลงทุนปี 2567 เล็งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ สร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อนการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน หนุนพอร์ตผลิตไฟฟ้าแตะ 1,000 เมกะวัตต์ อัดงบลงทุน 5 ปี 21,200 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปี (2567-2571) ที่ 30,000 ล้านบาท
นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยถึงแผนกลยุทธ์ธุรกิจในปี 2567 ว่า บริษัทฯ เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจการลงทุนผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนจากการต่อยอดธุรกิจทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต โดย WHAUP ตั้งเป้ารายได้ และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปี (2567-2571) ที่ 30,000 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งงบลงทุนภายใน 5 ปี ข้างหน้าไว้ที่ 21,200 ล้านบาท และยังคงรักษาอัตรากำไร EBITDA margin ที่ระดับไม่น้อยกว่า 50% ผ่านแผนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) และธุรกิจพลังงานไฟฟ้า
สำหรับแผนการมุ่งเน้นการต่อยอดธุรกิจพลังงานไฟฟ้า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน โดยได้ตั้งเป้าในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสะสมที่ลงนามสัญญาแล้วจากโรงไฟฟ้าทุกประเภทเป็น 1,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 17% จากปีก่อน ซึ่งจะประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวน 453 เมกะวัตต์ โดยเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ Private PPA จำนวน 283 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ บริษัทฯ วางแผนและทิศทางการดำเนินธุรกิจเพื่อเดินเกมรุกในการพัฒนานวัตกรรม และโซลูชันพลังงาน ภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอาทิ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า แพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า (Peer-to-Peer Energy Trading) และการซื้อขายใบรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (I-REC) รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) รวมทั้งการทำดีล M&A ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้
ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) บริษัทฯ มุ่งเน้นการขยายการให้บริการและเพิ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชันมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม โดยตั้งเป้ายอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำทั้งหมดที่ จำนวน 178 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นยอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำภายในประเทศจำนวน 142 ล้านลูกบาศก์เมตร และในประเทศเวียดนามจำนวน 36 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 14%
พร้อมทั้งยังเดินหน้าพัฒนา Smart Water Platform ด้วยการนำ Artificial Intelligence (AI) เข้ามาประยุกต์ใช้ และมองหาโอกาสขยายธุรกิจใหม่ๆ อาทิเช่น โซลูชันด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นต้นนอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการโรงผลิตน้ำและโรงบำบัดน้ำเสียต่างๆ ที่จะเริ่มทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มเติมในปีนี้ อาทิ โครงการในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHA IER) ซึ่งคาดว่าจะมีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงไตรมาส 2/2567 และโครงการส่วนขยายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (WHA Rayong 36) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงไตรมาส 4/2567 โดยโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตรวมกว่า 8.8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมองหาแหล่งน้ำดิบทดแทน เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านการจัดหาน้ำ และรองรับการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณความต้องการใช้น้ำของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2566 WHAUP รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ จำนวน 4,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% และมีกำไรปกติ (Normalized Net Profit) จำนวน 1,587 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 254% ขณะที่กำไรสุทธิซึ่งรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 1,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 259% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นของกำไรปกติมีปัจจัยหลักมาจากส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า SPP ที่ค่า Ft ได้ปรับขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน Gheco-One ที่รับรู้ค่าความพร้อมจ่ายเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตรารวม 0.2525 บาทต่อหุ้น ซึ่งเมื่อหักการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตรา 0.060 บาทต่อหุ้นที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปแล้ว คงเหลือเป็นเงินปันผลที่จะจ่ายเพิ่มเติมอีกในอัตรา 0.1925 บาทต่อหุ้น โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 25 เมษายน 2567 และกำหนดการจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการสะท้อนศักยภาพความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินที่มั่นคงและการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอของบริษัทฯ