การบินไทย ชงตั้งกรรมการชุดใหม่ในวันที่ 18 เม.ย. นี้ เปิดชื่อคนคลังนั่ง 2 เก้าอี้ ’ปลัดคลังลวรณ-ดร. กุลยา‘ ยัน พ.ค. ขออกจากแผนฟื้นฟูฯ และกลับมาเทรดอีกครั้งกลางปีนี้ เผยแนวโน้มรายได้ปี 68 โตไม่ต่ำกว่าปี 67 แย้มไตรมาสแรกผลงานดี หลังมีดีมานด์ผู้โดยสารสูงโดยเฉพาะเดือนก.พ. มั่นใจทำกำไรจากการดำเนินงานได้แน่นอน
บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) นำโดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี และนายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ ร่วมแถลงข่าวทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2568 และขั้นตอนการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในปีนี้ ว่า ในวันศุกร์ที่ 18 เมษายน 2568 จะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งกกรมการชุดใหม่ จำนวน 11 คนหรือ 12 คน หลังจากอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการ จะเป็นการยื่นต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอนำการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟู ซึ่งคาดว่าจะออกได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 และคาดว่าจะสามารถกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในภายในเดือนมิถุนายนของปี 2568 นี้
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 มีมติอนุมัติการลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ของหุ้นของบริษัทฯ จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1.30 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชีของบริษัทฯ ให้ใกล้เคียงศูนย์มากที่สุด โดยจะทำให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทฯ ลดลงจากจำนวนประมาณ 283,033 ล้านบาท เป็นจำนวนประมาณ 36,794 ล้านบาท และทำให้ผลขาดทุนสะสมลดลงเหลือ 180 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือบริษัทฯ แต่อย่างใด และไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมในงบการเงินของบริษัทฯ อีกทั้ง ไม่มีผลกระทบต่อมูลค่าบริษัทหรือมูลค่าต่อหุ้น เนื่องจากมูลค่าต่อหุ้นไม่ได้ถูกกำหนดจากมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) และเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทฯ สามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลในอนาคตให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ รวมถึงเจ้าหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุน และเป็นการเพิ่มความน่าสนใจของหุ้นให้แก่นักลงทุนภายหลังการกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหากในอนาคต บริษัทฯ ต้องการที่จะระดมทุนเพิ่มเติมโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการหรือชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัดเรื่องผลขาดทุนสะสมซึ่งเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีอีกต่อไป
สำหรับวาระเสนอพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ จะประกอบด้วยกรรมการในปัจจุบันจำนวน 3 คน ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร และพลอากาศเอก อำนาจ จีระมณีมัย และกรรมการเข้าใหม่จำนวน 8 คนหรือ 9 คน (ตามแต่จำนวนกรรมการที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติ) ซึ่งจะเสนอชื่อ 6 คน ได้แก่ นายลวรณ แสงสนิท ดร. กุลยา ตันติเตมิท นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ พลตำรวจเอก ธัชชัย ปิตะนีละบุตร นายชาติชาย โรจน์รัตนางกูร และนายชาย เอี่ยมศิริ และกรรมการอิสระจำนวน 3 คน ได้แก่ นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม นายยรรยง เดชภิรัตนมงคล และนายสัมฤทธิ์ สำเนียง ทั้งนี้ ภายหลังจากบริษัทฯ ได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นแล้ว และได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางแล้ว บริษัทฯ จะดำเนินการจดทะเบียนการเปลี่ยนแปลงจำนวนกรรมการ และการแต่งตั้งจดทะเบียนกรรมการใหม่ ก่อนที่จะดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการต่อไป
ในส่วนของภาระหนี้ที่เหลือในปัจจุบันอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ดอกเบี้ย 1.5% ซึ่งการบินไทยมีภาระจ่ายหนี้ดังกล่าวเฉลี่ยปีละ 1 หมื่นล้านบาท จนถึงปี 2579
นายชาย กล่าวถึงแนวโน้มผลดำเนินงานในปี 2568 ว่า บริษัมตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโตสูงกว่าปีที่แล้ว ที่สามารถเติบโตกว่า 16% อยู่ที่ระดับ 1.87 แสนล้านบาท ซึ่งจะมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ราคาต่อที่นั่ง และจำนวนเที่ยวบิน ภายใต้จำนวนเครื่องบิน 79 ลำในปัจจุบัน โดยปีนี้มีแผนซื้อเครื่องบินใหม่เข้า 9 ลำ และการทำตลาดขายตั๋วโดยสารแบบ network เพิ่มมากขึ้น ส่วนแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงาน ยังเติบโตได้ทั้งจากอัตรากำไรก่อนหักต้นทุนการเงิน ที่จะพยายามรักษาให้อยู่ระดับ 22.1% และการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง และยังมีแผนรอขายเครื่องบินเก่าอีกราว 12 ลำ นอกจากนี้จะเข้าร่วมลงทุนกับ BA pสร้างศูนย์ซ่อมเครื่องบินที่อู่ตะเภา มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท เริ่มลงทุนครึ่งปีหลังนี้
“แนวโน้มไตรมาสแรกนี้ ดูจาก cabin facter ยังอยู่ระดับที่ดี 85% ซึ่งดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและเทียบรายเดือน ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ มีดีมานด์ผู้โดยสารสูงมาก โดยเฉพาะเดือนกุมถาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากนโยบายขายตั๋วแบบ network ส่วนผู้โดยสารจีน ยังไม่มากเท่าก่อนโควิด แต่มีผู้โดยสารจากอินเดียมากขึ่นและมาต่อเครื่องไปออสเตรเลีย ทำให้การขายตั๋ว network เติบโตดี ซึ่งคาดจะทำให้พอร์ตส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 30%ของพอร์ตขายตั๋วรวม จากปีก่อนอยู่ที่ 20% นอกจากนี้ในเดือนพฤษภาคม จะมีแคมเปญครบรอบ 65 ปีการบินไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้กับออกจากแผนฟื้นฟู ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของการบินไทย“ นายชาย กล่าว
ปัจจุบันบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีอากาศยานที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 79 ลำ แบ่งเป็นแบบลำตัวกว้างและลำตัวแคบ จำนวน 59 ลำ และ 20 ลำตามลำดับ โดยตารางบินฤดูหนาว ประจำปี 2568 ของบริษัทฯ วางแผนทำการบินไปยัง 64 จุดบินเช่นเดียวกับในปี 2567 แต่มีจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด 883 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 40 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากปี 2567 ที่มี 843 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารในเส้นทางบินยอดนิยม รวมถึงรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบิน จำนวนเที่ยวบิน และความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ และนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป
สำหรับผลดำเนินงานในปี 2567 ของการบินไทย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เท่ากับ 187,989 ล้านบาท เพิ่มจาก 161,067 ล้านบาทในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 16.7% ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) เท่ากับ 41,515 ล้านบาทในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 40,211 ล้านบาทในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 3.2% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) (EBIT Margin) สำหรับปี 2567 อยู่ที่ 22.1% ซึ่งดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ตามงบการเงินรวมสำหรับปี 2567 การบินไทยมีผลขาดทุน 26,901 ล้านบาท เกิดจากผลขาดทุนทางบัญชีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 45,271 ล้านบาท ที่บริษัทฯ ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา โดยผลขาดทุนทางบัญชีส่วนใหญ่ประมาณ 40,582 ล้านบาท เกิดจากการใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ราคาตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม และส่วนที่เหลือมาจากการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ที่ได้รับการชำระหนี้ที่เร็วกว่ากำหนดที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ดี รายการดังกล่าวเป็นผลขาดทุนทางบัญชีซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และไม่ได้ส่งผลต่อการออกจากการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ภายหลังการปรับโครงสร้างทุนยังคงเป็นบวก
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากการดำเนินงาน หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน (EBITDA – Aircraft Cash Lease) ตามงบการเงินเฉพาะกิจการสำหรับงวด 12 เดือนย้อนหลังเท่ากับ 41,473 ล้านบาท ซึ่งไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ตามเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ และส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ตามงบเฉพาะกิจการกลับมาเป็นบวกที่ 45,495 ล้านบาท จากที่เคยติดลบ 43,352 ล้านบาทในปี 2566 หลักๆ เกิดมาจากกำไรจากการดำเนินงานในระหว่างปี และผลจากการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้การบินไทยสามารถบรรลุอีกหนึ่งเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ และยังส่งผลให้เหตุแห่งการเพิกถอนหุ้นตามนิยามของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหมดไป และทำให้บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ