KKP แจงสาเหตุเศรษฐกิจไทยโตต่ำ แม้แจกเงิน-ส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้นตัว
พร้อมคาดการณ์ปี 2025 โตเพียง 2% หากภาคอุตสาหกรรมไม่ฟื้น
(อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://media.kkpfg.com/document/2025/Feb/KKPResearch_Why-thai-economy-facing-slow-recovery.pdf )
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรเผยตั้งแต่หลังวิกฤติการระบาดของโควิด -19 เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ช้าและต่ำกว่าระดับศักยภาพ การเติบโตที่แตกต่างกันมากในแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจ เป็นเหตุผลที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจำกัดอยู่เพียงกลุ่ม ในขณะที่หลายกลุ่มโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอาจเรียกว่าอยู่ในภาวะถดถอย ในช่วงปี 2024 ที่ผ่านมา หลายฝ่ายหวังว่าแรงส่งทางบวกจะเอาชนะผลด้านลบโดย 3 ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ (1) การแจกเงินจากภาครัฐ (2) การส่งออกที่เติบโตได้ดี (3) จำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตได้ตามที่ประเมินไว้
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมากลับยังคงเติบโตได้ไม่ดีนักและโตต่ำกว่าศักยภาพเดิมที่ 3% KKP Research ตั้งข้อสังเกตว่าการเติบโตที่ต่ำของปี 2024 นี้ ไม่เพียงเกิดจากปัจจัยลบที่มากดดัน แต่เกิดจากปัจจัยบวกไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากเท่ากับที่คาดหวัง
3 ปัจจัยบวก แรงส่งน้อยกว่าคาด – แจกเงินแต่เศรษฐกิจไม่ฟื้น?
ในช่วงปลายเดือนกันยายนปี 2024 รัฐบาลมีการดำเนินมาตรการ Digital Wallet โดยแจกเงินจำนวน 1 หมื่นบาทให้กับกลุ่มปราะบาง คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท หรือประมาณ 0.7% ของ GDP แต่พบว่าการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในไตรมาสสี่ของปีในภาพรวมมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับการบริโภคในช่วงสามไตรมาสแรก ซึ่งหมายถึงการแจกเงินแทบไม่มีผลต่อการบริโภคภาคเอกชนไทยเลย ผลทางเศรษฐกิจของมาตรการสอดคล้องกับที่ KKP Research เคยประเมินไว้ว่าตัวคูณทางเศรษฐกิจจากการแจกเงินในภาวะเศรษฐกิจปกติจะอยู่ในระดับต่ำ โดยประเมินว่าจำนวนเงินที่ถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคใหม่คิดเป็นไม่ถึง 10% ของเงินที่แจกไป โดยมี 3 สาเหตุสำคัญ
ประเด็นที่กล่าวมาอาจอธิบายว่าเหตุใดการฟื้นตัวของการบริโภคยังคงอ่อนแอแม้ว่าจะมีมาตรการแจกเงินเพิ่มเติม ผลลัพธ์จากมาตรการแจกเงินในช่วงปลายปีแสดงให้เห็นว่าการใช้มาตรการนี้อาจเป็นทางเลือกนโยบายที่ได้ผลทางเศรษฐกิจไม่คุ้มกับต้นทุนทางการคลังที่เกิดขึ้น และเกิดคำถามว่างบประมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2025 ควรปรับรูปแบบให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจได้หรือไม่
KKP คาดการณ์ว่าการบริโภคภาคเอกชนของไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2025 โดยจะขยายตัวได้ที่ 2.3% ชะลอลงจาก 4.2% ในปี 2024 โดยเฉพาะกลุ่มการบริโภคสินค้าคงทนที่จะยังหดตัวลงต่อไป
ส่งออกโตดีมากแต่ภาคการผลิตในประเทศกลับไม่ดีขึ้น ?
KKP Research ประเมินไว้ว่าการส่งออกไทยอยู่ในช่วงขาลงจากปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่แย่ลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามในปี 2024 การส่งออกสินค้าของไทยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์กลับเติบโตได้มากถึง 5.4%สูงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ในช่วงต้นปีที่ประมาณ 2% - 3% ในอีกทางหนึ่งเมื่อพิจารณาดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยกลับพบว่าที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในทิศทางหดตัวต่อเนื่อง คำถามคือเหตุใดการส่งออกไทยจึงโตได้ดีมากในขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจกลับดูลดลงอย่างชัดเจน
KKP Research ประเมินเบื้องต้นว่าการส่งออกที่มีโอกาสเกี่ยวข้องกับการ Rerouting มีผลต่อการเติบโตของการส่งออกไทยประมาณ 22% ในปี 2024 จากระดับการเติบโตทั้งหมด โดยการเติบโตของการส่งออกที่มากขึ้น 1% จะส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ลดลงจากระดับ 0.3ppt เหลือประมาณ 0.1ppt – 0.2ppt เท่านั้น
ในระยะถัดไปการส่งออกของไทยจะเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐ ฯ ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ (1) สินค้าที่ช่วยพยุงการส่งออกไทยในกลุ่ม Rerouting มีความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากสหรัฐ ฯ มีแนวโน้มกีดกันสินค้าที่มีต้นกำเนิดจากจีน อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อดุลการค้าจะไม่รุนแรง (2) สินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐ ฯ อาจเผชิญความท้าทายมากขึ้นจากการกีดกันทางการค้า (3) สินค้าจากจีนที่จะยังคงเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะหากสหรัฐ ฯ มีการปรับขึ้นภาษีกับจีนรุนแรง และ (4) สินค้ากลุ่มที่ไทยมีการตั้งกำแพงภาษีกับสหรัฐ ฯ ในระดับสูงอาจถูกต่อรองให้ไทยนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมได้
นักท่องเที่ยวกลับมาแล้ว แต่เศรษฐกิจกลับไม่ดีเหมือนที่คิด
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังไทยในปี 2024 มีจำนวน 35.5 ล้านคน โดยเติบโตขึ้นประมาณ 26.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน สอดคล้องกับที่หลายฝ่ายประเมินไว้ อย่างไรก็ตามผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมกลับยังมีค่อนข้างจำกัดโดยประเมินว่า
3 ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลงในปี 2025 โดยเฉพาะแรงส่งจากภาคบริการที่จะลดลงไปมาก ในขณะที่ปัจจัยลบยังไม่หายไป KKP ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะชะลอตัวลงเล็กน้อยมาที่ระดับ 2.6% โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจสามารถฟื้นตัวได้บ้าง อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจกระทบต่อการการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยหากภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่ฟื้นตัวและติดลบในอัตราใกล้เคียงกับในปี 2024 จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ช้าลงโดยจะเติบโตได้เพียง 2.0% หรือต่ำกว่านั้น
ประเด็นสำคัญคือ ในสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันการประเมินภาพเศรษฐกิจโดยยึดการวัดความสำเร็จผ่านข้อมูลเศรษฐกิจแบบเดิมอาจทำให้การประเมินภาพเศรษฐกิจคลาดเคลื่อนและทำให้มองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข นำไปสู่การออกแบบนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง KKP Research ยังคงประเมินว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการรัฐจากทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวระยะสั้น และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าในระยะยาว