CIVIL เผยทิศทางธุรกิจครึ่งปีหลังโตต่อเนื่อง เดินหน้าประมูลงานโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ-เอกชน เตรียมขยายพอร์ต Backlog คาดทำนิวไฮแตะ 30,000 ล้านบาท มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพงานด้วยเทคโนโลยีบริหารก่อสร้าง เร่งส่งมอบงานในมือตามกำหนดเวลา เล็งจับมือพันธมิตรพัฒนาธุรกิจยานยนต์เชิงพาณิชย์, อสังหาฯ และ วัสดุก่อสร้าง ตั้งเป้ารายได้สิ้นปี 2567 โต 6,500 ล้านบาท
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำบริษัทก่อสร้างครบวงจรชั้นนำของไทย เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลัง 2567 ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายเติบโตต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการเข้ารับงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทั้งภาครัฐและเอกชน จากการที่รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้กับบริษัทมากขึ้นในการเข้าประมูลงาน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ อาทิ งานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่, งานประเภทรถไฟความเร็วสูง และ งานถนน มูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท
อีกทั้งบริษัทอยู่ระหว่างรอลงนามสัญญาจำนวน 8 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท ได้แก่ งานถนน และ งานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยงานทั้งหมดที่คาดว่าได้รับจะส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) ของบริษัทในช่วงสิ้นปี 2567 เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 30,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมี Backlog จำนวน 22,538 ล้านบาท
สำหรับการรับรู้รายได้ในปี 2567 คาดว่า จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 6,500 ล้านบาท จากแผนการดำเนินงานใน 2 ส่วน ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับงานก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์
ธุรกิจหลักบริษัทมีการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี อาทิ โปรแกรม Power BI (Business Intelligence), HR Tech และ ระบบ RPA (Robotic Process Automation) ซึ่งปัจจุบันดำเนินการเต็มประสิทธิภาพ สามารถบริหารขั้นตอนงานก่อสร้างด้วยความรวดเร็ว และส่งมอบงานได้ตามกำหนดเวลา โดยบริษัทมีแผนส่งมอบงานในมือจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์, โครงการพัฒนาคูน้ำวิภาวดี ตอน 2, โครงการก่อสร้างสนามบินลำปาง สนามบินหัวหิน และ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่บางสะพานน้อย-ชุมพร มูลค่ารวม 3,300 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้งานก่อสร้างแบ่งเป็น งานก่อสร้างทางรถไฟและทางรถไฟความเร็วสูง 46%, งานก่อสร้างทางหลวง ทางต่างระดับ และทางพิเศษ 33.9% และ งานประเภทอื่นๆ 20.1% อาทิ คลองระบายน้ำ งานก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ และ สนามบิน
ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับงานก่อสร้าง บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ ธุรกิจยานยนต์เชิงพาณิชย์ (EV) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสการเติบโตในส่วนธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรก่อสร้างให้เช่า รวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจวัสดุก่อสร้างของบริษัท ซึ่งทั้งหมดจะเริ่มเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 เป็นต้นไป
“ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ผ่านมาถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ทำให้ CIVIL มีความแตกต่างคือการรักษาต้นทุนการก่อสร้างให้อยู่ในระดับที่ดี และ การมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง สามารถดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานทั้งหมด อีกทั้งการมุ่งเน้นพัฒนาประสิทธิภาพงานรอบด้าน ทั้งในแง่การบริหารโครงการให้เป็นไปตามกำหนดเวลาภายใต้ข้อจำกัดด้านพื้นที่ก่อสร้าง รวมไปถึงการมี Backlog ที่สร้างการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทยังคงเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถการเข้าประมูลงานที่มีศักยภาพ ด้วยความพร้อมในการแข่งขันทุกโครงการ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีความชัดเจนในด้านงบประมาณและโครงการที่จะเริ่มเปิดประมูลในช่วงครึ่งปีหลังมากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทในการสร้างการเติบโตทั้งรายได้ และความสามารถในการทำกำไรให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้” นายปิยะดิษฐ์ กล่าว